Wednesday, August 14, 2013

โหลดบิทด้วย FreeNAS ตอนที่ 1 เตรียมพร้อมสำหรับการโหลดบิท

เนื่องจากปลายปีที่แล้ว (2554) ผมได้พยายามหาระบบปฏิบัติการ (OS) ที่เหมาะสำหรับทำ File Server ใช้ในองค์กร ซึ่ง OS ตัวหนึ่งที่ได้ลองใช้ก็คือ FreeNAS ลองไปแบบมั่วๆ งูๆ ปลาๆ ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัด แต่ในครั้งนั้นก็ยังอุตส่าห์ได้ลองใช้ bittorrent client ที่มีมาให้ใน FreeNAS จำได้ว่าตอนนั้นไม่ได้เซ็ตค่าอะไรมากมายเลยมันก็ยังโหลดบิทได้
แต่พอกลับมาทำอีกที โอ้วววว ทำไมโหลดบิทไม่ได้ซักที ล่อไปครึ่งวันกว่าจะได้ ลงโปรแกรมไปราวๆ 5 รอบ ต้องยอมรับว่าพลาดกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ฉนั้นก่อนที่จะลืมจนอาจจะทำให้พลาดอีก จึงเอามาทำเป็นบทความก่อน เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ด้วย
Remark1 ก่อนอื่นต้องขอบอกให้ เข้าใจโดยทั่วกันว่าผมเองไม่ได้มีความเชียวชาญในการใช้ FreeNAS เพียงแค่ได้ลองใช้งานมาบ้าง มีจุดเล็กจุดน้อยที่เคยพลาด ก็ไม่อยากพลาดซ้ำๆ ในจุดเดิมๆ จึงได้นำมาเขียนเป็นบทความไว้ เผื่อจะได้เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจด้วยนะครับ
Remark2 ในบทความนี้ผมไม่ได้แนะนำหรือให้ข้อมูลว่า FreeNAS คืออะไร ติดตั้งยังไง เพราะผมคิดว่าข้อมูลเหล่านี้หากท่านสนใจ ท่านสามารถหาได้ทั่วไปตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งผมเองก็เริ่มศึกษาจากเว็บไซต์ต่างๆ เหล่านั้น แต่หากว่าโอกาสหน้ามีเวลาว่างๆ จะพยายามย้อนกลับมาหาข้อมูลมาทำเป็น Episode 1 ก็แล้วกันนะครับ (เหมือน Star wars)

ที่มาของการใช้ NAS ในการโหลดบิท
ปกติผมจะใช้คอมอยู่ 2 เครื่อง เปิดทำงานทีละเครื่อง พอจะโหลดอะไรมันก็เสร็จบ้างไม่เสร็จบ้าง บางทีโหลดจนเกือบเสร็จแต่ก็ต้องปิดเครื่อง พอกลับมาเปิดเครื่องเดิมมันก็นานจนไม่มีคนปล่อยละ ทีนี้มันก็ใกล้จะถึงสงกรานต์ (เกี่ยวอะไรเนี่ย) ...ต้องโหลดคาราโอเกะ โหลดเพลงต่างๆ ไว้เยอะๆ น่ะครับ มันก็ต้องมีเครื่องอะไรซักอย่างที่เปิดทำงานตลอดเวลาเอาไว้โหลดบิทใช้มั๊ย ล่ะ...นี่แหละที่มาของการใช้ NAS
เตรียมการทางด้าน Hardware และ Software
อย่างแรกเลยคือจะต้องเป็นเครื่องคอมที่ไม่มีใครใช้งาน สเป็คไม่ต้องสูง ต่ำๆ เลยก็ได้ ประมาณ Pentium III ก็ได้ ที่สำคัญมากๆ คือ กินไฟน้อย ก็หาๆ เอาเศษซากคอมเก่าๆ ที่มีอยู่ในบ้านจนได้คอมเก่าๆ มาเครื่องนึง เข้าคอนเซ็ปทุกประการ แต่...บางทีฮาร์ดแวร์อื่นๆ มันไปได้ครับ แต่ฮาร์ดดิสมันไม่ได้ ก็ใส่ได้แต่ IDE 40GB 80GB มากๆ หน่อยก็ 160GB ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่มีครับ
ก็เลยต้องเปลี่ยนคอนเซ็ปกันนิดหน่อยครับ เอาเครื่องคอมที่สามารถหาได้ง่ายๆ ตามใต้ถุนบ้าน ได้แบบนี้มา
- AMD Athlon(tm) 64 X2 Dual Core Processor 5000+
- DDR3 1GB
- MB ECS Black Series
- Power Supply 550W
- Seagate SATA II 160GB
- Flash Drive 1GB อีก 1 อัน เอาไว้ติดตั้ง FreeNAS ลงไปในนี้ครับ

แหะๆ....สเป็คเวอร์ไปนิโหน่ย จัดไปครับไม่มีเก่ากว่านี้ละ
ส่วน Software ก็เลยต้องเป็น FreeNAS 0.7.2 Sabanda 64bit. ไม่ใช่เวอร์ชั่นใหม่นะครับ คิดว่าใหม่สุดน่าจะเป็นเวอร์ชั่น 8 แต่ที่เคยลองมาแล้วเวอร์ชั่น 8 ไม่มี bittorrent มาให้ หรือมีแต่เราใช้ไม่เป็นก็ไม่ทราบนะครับ ง่ายๆ คือเอาเวอร์ชั่นที่เรารู้แน่ๆ ว่ามันใช้ได้เนี่ยแหละครับ
เล็กๆ น้อยๆ กับการติดตั้ง
ครั้งก่อนผมใช้ฮาร์ดดิส 1 ลูกเพื่อติดตั้ง FreeNAS รู้สึกจะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะว่า FreeNAS เวอร์ชันที่ผมจะติดตั้งตอนนี้ ต้องการพื้นที่ในการติดตั้งขั้นต่ำแค่ 380 MB เท่านั้นเอง คราวนี้ก็เลยติดตั้งลงบน Flash Drive  ตัวที่เห็นในรูปนะครับ
FreeNAS USB
Flash Drive 1GB สำหรับติดตั้ง FreeNAS

หลังจากที่เสร็จสิ้นขั้นตอนการติดตั้ง FreeNAS ก็จะปรากฏหน้าตาของ Console แบบนี้นะครับ
FreeNAS Console setup
หลังจากนี้เราสามารถเข้าไปตั้งค่าต่างๆ ของ FreeNAS ผ่านทาง WebGUI โดยค่า Default ของระบบจะเป็นดังนี้ครับ
IP Address : 192.168.1.250
WebGUI Port : 80
Username : admin
Password : freenas
แต่ผมอยากจะบอกว่า Console setup มันมีความน่าใช้อยู่พอสมควรเลย เพราะเวลาที่เราไปคอนฟิกค่าต่างๆ ผ่านทาง WebGUI บางครั้งจะต้อง Reboot ระบบเพื่อให้ค่าที่เราคอนฟิกถูกนำไปใช้งาน แต่หากเราทำผ่าน Console ค่าที่เรากำหนดจะถูกใช้งานทันทีโดยไม่ต้อง reboot ครับ  โดยเฉพาะข้อ 1 และ ข้อ 2 คือการตั้งค่าทางเน็ตเวิร์ค
ตั้งค่า Network ผ่านทาง WebGUI
หลังจากที่ Login เข้ามาทาง WebGUI แล้ว ขั้นแรกเลยผมก็ไปเซ็ตค่า Network LAN ครับ  โดยไปที่เมนู  Network >> LAN Management  แล้วตั้งค่า Gateway เป็นค่าเดียวกับ IP Address ของ Router ที่บ้านครับ  ...สังเกตที่ผมวงสีแดงไว้นะครับ การเปลี่ยนค่า Gateway ผ่านทาง WebGUI จะต้อง Reboot ถึงจะมีผลครับ
Network LAN Manage

** จุดที่พลาด **
เข้าเมนู System >> General
FreeNAS General settings
จุดนี้เป็นจุดเดียวที่ผมพลาด เพราะคุ้นๆ (แค่คุ้นๆ นะ) ว่าคราวที่แล้วจะไม่ได้มาเซ็ตค่า DNS แต่สามารถโหลดบิทได้เลย คราวนี้ก็เลยไม่ได้เซ็ตค่า DNS ทีแรกก็ไม่ได้คิดหรอกว่ามันออกเน็ตได้รึป่าว แค่ทำเหมือนที่คิดว่าเคยทำมา คิดว่าเราพลาดตรงไหน ลองลงใหม่อีกสี่ห้ารอบก็ไม่ได้ หลังๆ มาไม่รู้จะทำอะไรแล้ว โหลดก็โหลดไม่ได้ ก็เลยมานั่งเล่น Console (ดูภาพ Console ข้างบนประกอบไปนะครับ ที่หน้าจอสีดำๆ น่ะ) ลองเลือกข้อ 6 ดู ลอง ping หาเร้าท์เตอร์ ..ก็ได้นี่หว่า  ping หากูเกิ้ล ...อ่าาาววว!! มันออกเน็ตไม่ได้ gateway ก็เซ็ตแล้ว เหลือ DNS อ่ะที่ยังไม่ได้ใส่ค่าอะไรเลย
ก็เลยลองเลือกข้อ 1 และ ข้อ 2 ดู ไม่ขอบอกนะครับว่าเป็นยังไง มันง่ายมากอยากให้ไปลองกันเองครับ ส่วนการตั้งค่า DNS ที่ว่านี้อยู่ในส่วนของข้อ 2 Set LAN IP Address ...แต่หากใครไม่อยากใช้ Console ก็เซ็ตค่าผ่านทาง WebGUI ก็ได้ครับ  ค่าที่ผมใส่ในช่อง IPv4 DNS servers ค่าแรก 110.164.252.222 เป็นค่า DNS ของ 3BB ครับ (ที่บ้านใช้เน็ตของ 3BB) และค่าที่ 2 คือ 192.168.1.1 เป็น IP ของ router น่ะครับ ไม่มีผลอะไร ใส่ไปยังงั้นแหละ  หลังจากที่เรากำหนดค่า DNS server ไปแล้ว ลอง ping ไปยังเว็บต่างๆ ดูครับ ถ้า ping ได้ก็จบละ
อีกนิดกับ WebGUI
จากภาพสุดท้ายข้างบนนะครับ ที่หัวข้อ Port ผมเปลี่ยนจาก Port 80 เป็น 81 เพื่อที่ผมจะ forware port จาก router ไปหาเครื่อง NAS เผื่อบางคนอาจจะมี server อื่นๆ อยู่ที่ port 80 ก็สามารถที่จะมาเปลี่ยนค่าในการเข้าใช้งาน WebGUI  หลังจากเปลี่ยนค่าตรงนี้ แน่นอนครับต้อง Reboot
หลังจาก Reboot แล้ว ในการเข้าใช้งาน WebGUI จากเดิม http://192.168.1.250  ก็กลายเป็น  http://192.168.1.250:81
ขอจบตอนที่ 1 ไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ตอนนี้โหลดบิทกันสนั่นหวั่นไหว เน็ตช้ามากเลยครับ ไว้ต่อกันตอนที่ 2 นะครับ
Remark3 ตอนที่โหลดบิทยังไม่ได้ ก็เลยไปค้นดูในเว็บต่างประเทศ เห็นเขาใส่ script เข้าไปให้ FreeNAS อะไรไม่รู้ยุ่งยากมากมาย ก็ไม่ค่อยเข้าใจนะ แต่ถ้าให้ทำขนาดนั้นผมเลิกโหลดดีกว่า
Remark4 เท่าที่เขียนๆ มาทั้งหมด รู้สึกว่าจะข้ามไปข้ามมา ใครไม่เคยลอง FreeNAS คงบ่น (จ่ม แช่ง) ก็..ตามนั้น อ่านรู้เรื่องก็ดีครับ ถ้าไม่รู้เรื่องก็แล้วไป 555  แต่หากใครมีข้อเสนอแนะอะไร เชิญส่ง email มานะครับ ผ่านทางหน้า contact ของเว็บ ผมไม่ได้เปิดระบบแสดงความคิดเห็นในนี้ครับ ขี้เกียจตามลบตามแบน

0 comments:

Post a Comment